วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2553

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

"โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง" เป็นชื่อรวมของโรคสองโรคที่สำคัญได้แก่ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และ โรคถุงลมโป่งพอง

โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เป็นอาการที่พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของต่อมหลั่งเมือกใต้ชั้นเยื่อบุผิวของหลอดลม ซึ่งผลิตเสมหะออกมามาก แล้วไปสะสมบริเวณหลอดลมเล็กจนไม่สามารถขับออกมาได้ นอกจากนี้ยังมีผนังหลอดลมหนาตัวขึ้นและเสียความยืดหยุ่น ทำให้ท่อหลอดลมมีขนาดตีบแคบลง จนทำให้มีอาการไอเรื้อรัง และมีเสมหะตลอด

ส่วนโรคถุงลมโป่งพองคือ เกิดการเปลี่ยนแปลงบริเวณถุงลมส่วนปลายที่สุดของหลอดลม ซึ่งมีการขยายตัวโป่งพองขึ้น และมีการทำลายของผนังถุงลม ทำให้สูญเสียการยืดหยุ่นไป มีผลทำให้การแลกเปลี่ยนแก๊สในปอดลดลง จนเกิดออกซิเจนในเลือดต่ำลง และเกิดการคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจออกลำบากและเหนื่อยง่าย

สาเหตุของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังนั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่ามีปัจจัยเสี่ยงอันก่อให้เกิดโรคหลายประการด้วยกัน ดังนี้

1. การสูบบุหรี่ เป็นปัจจัยสำคัญที่พบว่าประมาณร้อยละ 90 ของผู้ป่วยโรคนี้มีประวัติการสูบบุหรี่

2. มลพิษในอากาศ เกิดจากการสูดควันพิษ เช่น ฝุ่นละอองสารมีพิษ แก๊สต่าง ๆ เช่น ไนโตรเจนไดออกไซด์ ควันจากท่อไอเสียเมื่อหายใจเข้าไปบ่อย ๆ ก่อให้เกิดการระคายเคืองและเกิดการอักเสบของทางเดินหายใจ ซึ่งตามสถิติจะพบผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในเมืองใหญ่ หรือในเขตโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่าในชนบท

3. อายุ เพศ เชื้อชาติ สภาพแวดล้อมทางสังคมและอาหารเมื่ออายุมากขึ้น ความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อของปอดน้อยลงทำให้เกิดโรคนี้ได้ง่าย ในผู้ชายที่สูบบุหรี่จะมีอาการทางระบบทางเดินหายใจมากกว่าผู้หญิง 8-10 เท่า ส่วนอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจะพบในคนที่มีฐานะยากจนได้มากกว่า นอกจากนี้ อาหารประเภทเนื้อปลาจะช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคในกลุ่มคนสูบบุหรี่ได้

4. จากการสูดควันโดยที่ไม่ได้สูบบุหรี่หรือควันบุหรี่มือสอง จะพบว่ามักก่อให้เกิดในเด็ก หรือผู้ที่อยู่ในครอบครัวที่สูบบุหรี่เป็นประจำผลการตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอดในผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองนี้มักพบความผิดปกติที่เกิดจากทางเดินหายใจถูกกระตุ้นเป็นประจำด้วยควันบุหรี่ ทำให้มีความไวต่อการกระตุ้นของหลอดลมมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้สมรรถภาพการทำงานของปอดต่ำกว่าปกติ

5. ด้านอาชีพการงาน จะพบโรคนี้ได้มากในผู้ที่ทำงานโรงงานอุตสาหกรรม เหมืองแร่ โรงสีข้าว เผาถ่านหิน หรือช่างเชื่อมโลหะ

6. การติดเชื้อ พบว่าการติดเชื้อจากแบคทีเรียหรือไวรัสของทางเดินหายใจบ่อย ๆ จะทำให้เกิดการอักเสบขึ้น มีการทำลายเยื่อบุผิว เกิดแผลเป็น และชั้นใต้เยื่อบุผิวหนาขึ้นทำให้หลอดลมตีบถาวรได้

7. กรรมพันธุ์ ในผู้ที่พร่องแอลฟาวัน แอนติทริฟซิน ซึ่งเป็นสารโปรตีนที่สร้างจากตับสามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ และมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการทำลายเนื้อเยื่อของหลอดลม การขาดโปรตีนนี้ทำให้เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อในทางเดินหายใจ จะไม่มีสารมาช่วยยับยั้งการทำลายหลอดลม จนเกิดโรคถุงลมโป่งพองตามมาได้ ที่สำคัญมักพบในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย

8. หลอดลมมีการตอบสนองไวเกิน แม้ว่าบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแต่มีเพียงร้อยละ 10-15 ของผู้สูบบุหรี่เท่านั้นที่เกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง จะสังเกตได้ว่า ในผู้ที่มีสภาวการณ์ตอบสนองไวเกินของหลอดลมอยู่ก่อนแล้ว เมื่อสูบบุหรี่จึงเป็นการกระตุ้นให้เกิดความไวต่อการหดตัวของหลอดลม และมีการลดลงของสมรรถภาพการทำงานของปอดจนกลายเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในที่สุด

การรักษาโดยทั่วไปก็คือ งดสูบบุหรี่และดูแลป้องกันไม่ให้เป็นโรคหวัดหรือปอดอักเสบ ส่วนการรักษาโดยใช้ยานั้น ทำได้สองวิธีได้แก่ 1) ใช้ยาสูดขยายหลอดลมเวลามีอาการหอบเหนื่อย 2) ใช้ยาสูดสเตียรอยด์เช้าและเย็น อย่างสม่ำเสมอ

เมื่อกล่าวถึงการรักษาแล้ว คำถามที่ตามมาก็คือ การป้องกันการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังทำได้อย่างไร?

การป้องกันไม่ให้เกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง จะแบ่งออกเป็นการป้องกัน 3 ขั้น ได้แก่

1) การป้องกันขั้นปฐมภูมิ คือ ป้องกันไม่ให้เกิดโรคโดยการไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการสูดดมควันพิษต่าง ๆ

2) การป้องกันขั้นทุติยภูมิ ทำได้โดยการวินิจฉัยโรคแต่เนิ่น ๆเพื่อรีบให้การรักษาก่อนที่จะมีอาการกำเริบไปมากแล้ว นอกจากนี้ยังทำการตรวจสมรรถภาพปอดเป็นประจำ

3) การป้องกันขั้นตติยภูมิ ทำได้โดยชะลอการเสื่อมของปอดจากตัวโรคด้วยการใช้ยาสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์



ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

โดย : พญ.รพีพร โรจน์แสงเรือง ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น