วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เมาหนักเสี่ยงหัวใจวายสองเท่า


รักจะดื่มอย่าลืมดูแลหัวใจ




ไม่เกี่ยวว่าดื่มบ่อยแค่ไหน สำคัญที่ว่าคืนๆ หนึ่งกระดกไปเท่าไหร่มากกว่า ถ้าแอลกอฮอล์จะมีผลต่อสุขภาพหัวใจของคุณ นักวิจัยระบุคนที่ดื่มหนักมีความเสี่ยงโรคหัวใจเพิ่มขึ้นสองเท่า เมื่อเทียบกับคนที่ดื่มบ่อยแต่ในปริมาณต่อครั้งน้อยกว่า

การศึกษานี้เปรียบเทียบจากนักดื่มชาย 10,000 คน อายุ 50 - 59 ปี ที่มีตั้งแต่พวกคอทองแดงในเบลฟาสต์ ไอร์แลนด์เหนือ จนถึงพวกดื่มพอเป็นกระสัยใน 3 เมืองของฝรั่งเศส (ลิลล์ สตาร์สบูร์ก และตูร์ลูส) ภายในระยะเวลา 10 ปี โดยเมื่อเริ่มต้นการศึกษาคนเหล่านี้ไม่มีประวัติป่วยเป็นโรคหัวใจแต่อย่างใด

การศึกษาได้ข้อสรุปว่า การดื่มหนักสัปดาห์ละแค่ 1 หรือ 2 ครั้ง ส่งผลร้ายต่อสุขภาพหัวใจมากกว่าการดื่มทีละน้อยแต่บ่อยครั้งกว่า แม้รวมปริมาณแอลกอฮอล์ในรอบสัปดาห์แล้วเท่ากันก็ตาม

การดื่มหนักในการศึกษาฉบับนี้หมายความถึงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เกิน 50 กรัม ซึ่งหมายถึงเครื่องดื่ม 4 - 5 แก้ว (1 แก้วเท่ากับไวน์ 125 มิลลิลิตร หรือเบียร์ 0.25 ลิตร) ภายในระยะเวลาสั้นๆ

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า งานวิจัยที่ตีพิมพ์อยู่ในบริติช เมดิคัล เจอร์นัล ตอกย้ำสิ่งที่แม้รู้กันดีอยู่แล้ว แต่ถือเป็นสัญญาณเตือนภัยสำหรับพวกขี้เหล้า รายงานฉบับนี้ตอกย้ำสิ่งที่เรารู้กันดีอยู่แล้ว นั่นคือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หนักๆ อาจเป็นอันตรายต่อหัวใจ

สิ่งสำคัญคือการหลีกเลี่ยงการดื่มหนัก และจะดีกว่าถ้าดื่มแต่น้อย ถ้าจะดื่มก็ควรดื่มตามปริมาณที่ทางการแนะนำเอมี ธอมป์สัน พยาบาลอาวุโสที่เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจจากมูลนิธิหัวใจแห่งอังกฤษ กล่าว

ทั้งนี้ คำแนะนำอย่างเป็นทางการในสหราชอาณาจักรคือ ผู้หญิงไม่ควรดื่มเป็นประจำมากกว่า 2 - 3 หน่วย (1 หน่วยเท่ากับไวน์ประมาณ 2 แก้ว หรือเบียร์ 0.5 ลิตร) ต่อวัน และผู้ชายไม่ควรดื่มเป็นประจำมากกว่า 3 - 4 หน่วยต่อวัน

ในการศึกษา ผู้ชายวัยกลางคนในเบลฟาสต์ราว 9% เป็นพวกเมาหัวราน้ำ หรือดื่มเบียร์อย่างน้อย 1.5 ลิตร หรือไวน์ 5 แก้วต่อครั้ง โดยเฉพาะในช่วงสุดสัปดาห์ เทียบกับแค่ 0.5% ในฝรั่งเศส ผู้ชายเมืองน้ำหอมมีแนวโน้มดื่มเครื่องดื่มมึนเมาในปริมาณน้อยกว่าในแต่ละครั้ง แต่ดื่มบ่อยกว่า กล่าวคือผู้ชายฝรั่งเศส 3 ใน 4 ดื่มทุกวัน เทียบกับแค่ 12% ของผู้ชายเบลฟาสต์ที่ดื่มในความถี่แบบนี้

นักวิจัยพบว่า ผู้ชายที่ดื่มหนักมีความเสี่ยงหัวใจวายหรือเสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ชายที่ดื่มน้อยแต่ดื่มเป็นประจำภายในระยะเวลา 10 ปีที่ติดตามผล ศาสตราจารย์ฌอง แฟร์ริแญร์ จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยตูร์ลูส ฝรั่งเศส ที่ทำการวิจัยนี้ เชื่อว่าสาเหตุมาจากรูปแบบการดื่มที่ไม่สม่ำเสมอ

อีกปัจจัยหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังความเสี่ยงโรคหัวใจที่เพิ่มขึ้นในหมู่ผู้ชายเบลฟาสต์คือ ความนิยมในการดื่มเบียร์มากกว่าไวน์ ซึ่งตรงข้ามกับรสนิยมการดื่มของผู้ชายเมืองน้ำหอม



ที่มา : หนังสือพิมพ์ASTV ผู้จัดการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น